บ้านเป้าถิ่นผู้ไท ผ้าไหมสวยงามหรูภูผาขาวแหล่งธรรม เลิศล้าข้าวปลอดภัย
หนึ่งในแหล่งท่องเที่ยว หนึ่งเดียวผ้าเช็ดมือเลื่องลือกลุ่มอาชีพ น่าจีบสาวผู้ไท
เมื่อประมาณ พ.ศ. 2435 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีเจ้าจันทร์ชมพู กลางประพันธ์ ซึ่งเป็นชนเผ่าผู้ไทอยู่ที่บ้านหนองสูงได้ชักชวนเพื่อนบ้าน ได้แก่ เจ้าพิมพิสาร อาจวิชัย เจ้าหาญชนะภัย อาจวิชัย และเจ้าศรีสงคราม พากันย้ายครอบครัว จากบ้านหนองสูงมาตั้งบ้านเรือนสำหรับที่พักพิงอาศัย และประกอบอาชีพเกษตรกร ได้แก่ ทำไร่ ทำนา และเลี้ยงสัตว์ ซึ่งยู่ระหว่างภูผาขาวและภูผาแดง มีสภาพพื้นที่อุดมสมบูรณ์ และตั้งชื่อหมู่บ้านว่า "บ้านกุดอีเป้า" เพราะบริเวณตั้งหมู่บ้านเป็น "ป่าไม้เป้า" ต่อมาได้ตัด "กุดกับอี" ออก เหลือแต่ "บ้านเป้า" ซึ่งเป็นชื่อหมู่บ้านจนถึงปัจจุบัน พ.ศ. 2508 บ้านเป้า ได้แบ่งการปกครองออกเป็น 2 หมู่บ้าน คือ บ้านเป้า หมู่ที่ 3 และบ้านเป้า หมู่ที่ 5
พ.ศ. 2544 นายพงศ์ศานต์ พิทักษ์มหาเกตุ ผู้อำนวยการ ท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เขต 4 ในขณะนั้น ได้มาสำรวจ ข้อมูลของหมู่บ้านด้วยตนเอง และมีความเห็นที่จะพาชาวบ้านทำเป็นหมู่บ้านท่องเทียวเชิงอนุรักษ์ขึ้น โดยขั้นแรกชาวบ้านพา กันร่วมบริจาคทุนทรัพย์ ก่อสร้างที่พักและเรือนรับรอง นักท่องเที่ยว จำนวน 2 หลัง พร้อมได้ระดมหุ้นเพื่อใช้เป็นทุนสำรองในการบริหารจัดการ และเปิดบริการนักท่องเที่ยวอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2544 และใช้ชื่อว่า "หมู่บ้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์บ้านเป้า"
พ.ศ. 2546 กรมส่งเสริมการเกษตรได้เล็งเห็นความสามัคคีและความเข้มแข็งของชุมชนบ้านเป้า จึงได้สนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างที่พัก ห้องน้ำ ศาลาเรือนรับรอง ที่จำหน่ายสินค้าและปรับปรุงภูมิทัศน์ และได้เปลี่ยนชื่อเป็นหมู่บ้านการท่องเที่ยวเชิงเกษตรบ้านเป้า
พ.ศ. 2550 หมู่บ้านการท่องเที่ยวเชิงเกษตรบ้านเป้า ผ่านการประเมินมาตรฐานโฮมสเตย์ไทย จำนวน 20 หลัง พ.ศ. 2556 ได้ปรับปรุงคณะกรรมการฝ่ายต่างๆเพื่อให้การบริหารจัดการมีความเหมาะสมยิ่งขึ้น อีกทั้งชุมชน บ้านเป้าได้ตระหนักและเล็งเห็นความสำคัญของ ศิลปวัฒนธรรมอันดีงามของผู้ไทบ้านเป้า ที่ประชุมได้หารือและมีมติเห็นชอบให้ตั้งชื่อใหม่เป็น หมู่บ้านการ ท่องเที่ยวเชิงเกษตรและวัฒนธรรมบ้านเป้า